RCB Auctions Talk จากทวยเทพลายเบญจรงค์กว่า 200 ปี สู่อาร์ตทอย “นรสิงห์”Norasingha คอลเล็คชันอาร์ตทอยแรก ที่บริษัทประมูลศิลปะวัตถุชั้นนำของไทย RCB Auctions ร่วมกับ Argo Creation เปิดตัวอาร์ตทอยที่ได้สร้างสรรค์โดยศิลปินไทย ถอดดีไซน์มาจากลวดลายของเครื่องเบญจรงค์ ต้อนรับงานประมูล Arts and Antiques Live Auction Focus
จะเป็นอย่างไรหากทวยเทพอย่าง “นรสิงห์” ซึ่งเป็นลวดลายซิกเนเจอร์ของเครื่องเบญจรงค์ไทยถูกนำเสนอในเวอร์ชันใหม่เป็นศิลปะสุดป๊อปอย่าง “อาร์ตทอย” ที่ไม่ได้มีแต่ความน่ารัก แต่ยังบอกเล่าประวัติศาสตร์เครื่องเบญจรงค์จากอยุธยา สู่รัตนโกสินทร์ และอาร์ตทอยเครื่องเบญจรงค์ที่ว่าก็คือ Norasingha คอลเล็คชันอาร์ตทอยแรก ที่บริษัทประมูลศิลปะวัตถุชั้นนำของไทย RCB Auctions ร่วมกับ Argo Creation เปิดตัวอาร์ตทอยที่ได้สร้างสรรค์โดยศิลปินไทย ถอดดีไซน์มาจากลวดลายของเครื่องเบญจรงค์ ต้อนรับงานประมูล Arts and Antiques Live Auction ที่จะเริ่มขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2567 ซึ่งมีเครื่องเบญจรงค์โบราณอายุกว่า 200 ปี เป็นชิ้นงานไฮไลต์ของการประมูล แต่ก่อนที่งานประมูลจะเริ่มต้นขึ้นทาง RCB Auctions ได้เปิดรอบพรีวิวให้ เข้าชมเครื่องเบญจรงค์ลายโบราณ งานเครื่องถ้วยลายครามและชิ้นงานประมูลอื่นๆ แบบไม่ต้องเสียค่าเข้าชม พร้อมงานทอล์คสุดเอ็กซ์คลูซีฟ RCB Auctions Talk#3: Norasingha จากทวยเทพบนงานเบญจรงค์ สู่ศิลปะอาร์ตทอย ในวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2567 พร้อมอาร์ตทอยนรสิงห์จากเบญจรงค์ 3 ดีไซน์ให้ได้จับจองกันด้วย
“เครื่องเบญจรงค์ไทยแต่โบราณใช้ทั้งการกินอยู่ พิธีกรรม เครื่องบวงสรวง งานมงคล หรือเป็นเครื่องบรรณาการ และหากสังเกตให้ดีจะพบว่าเครื่องเบญจรงค์ไทยมักจะมีลายทวยเทพประดับอยู่ ลายที่นิยมก็จะเป็นเทพพนม และนรสิงห์ ซึ่งสื่อความหมายถึงความมงคล รวมทั้งสี ลวดลายของเบญจรงค์เองก็มีการพัฒนาการที่น่าสนใจ แต่การจะส่งต่อประวัติศาสตร์เครื่องเบญจรงค์ไปสู่คนรุ่นใหม่ถือเป็นความท้าทาย ทางทีม RCB Auctions จึงได้ทำงานร่วมกับ Argo Creation เปิดตัวอาร์ตทอยสัญชาติไทยที่ถอดดีไซน์มาจากลวดลายของเครื่องเบญจรงค์โบราณ นำนรสิงห์ลายยอดนิยมของเครื่องเบญจรงค์ไทยมาเป็นตัวกลางในการสื่อสารให้คนที่เห็นได้ตั้งคำถามว่า เอ๊ะ! นี่คือตัวอะไร ทำไมต้องเป็นสีทอง ทำไมต้องเป็นสีน้ำเงินขาว ทำไมต้องมีหลายสี ให้ความน่าสนใจของอาร์ตทอยดึงให้เขาอยากที่จะศึกษาเรื่องเบญจรงค์ต่อ นี่คือความท้าทายและจุดหมายของการทำงานในคอลเล็คชันนี้”
สำหรับ นรสิงห์ หรือ มนุษย์สิงห์ เป็นอวตารร่างที่ 4 ของพระนารายณ์ สัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญเหนือเทพและมนุษย์ เป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีหัวและลำตัวท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างคล้ายกวาง หากเป็นเพศหญิงจะเรียกว่า “อัปสรสีห์” ด้วยความงามและความน่าเกรงขาม ด้านอาร์ตทอยคอลเล็คชัน Norasingha ทำจากวัสดุซอฟต์ไวนิลตามมาตรฐานอาร์ตทอยในต่างประเทศ มีด้วยกัน 3 สี เริ่มจากสีพื้นฐานเครื่องเบญจรงค์ไทย ที่เหล่านักสะสมทั้งไทยและต่างชาติจะต้องมีในครอบครองเป็นชิ้นแรกๆ
ต่อด้วย นรสิงห์ลายน้ำทอง ถอดดีไซน์จากลายน้ำทอง เครื่องถ้วยประเภทเดียวกับเครื่องถ้วยเบญจรงค์ แต่มีการเพิ่มสีทอง แต้มสีทอง หรือเขียนเส้นตัดสีทอง โดยเครื่องลายน้ำทองเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งในการประมูลครั้งนี้จะมี จานเบญจรงค์แลทองลายพระยาสุนทรฯ ผลิตในสไตล์ยุโรป ถือเป็นรูปทรงที่พิเศษมากๆ นอกจากนี้ยังมีลายน้ำทองยุครัชกาลที่ 6 กับชุดชามมีฝาปิดเบญจรงค์เขียนลายดอกบัวและดอกไม้บนพื้นสีเทอร์คอยซ์ และที่พลาดไม่ได้คือชามมีฝาปิดเบญจรงค์ลายน้ำทองที่แม้ด้านนอกเขียนด้วยลายไทยอย่างลายพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ด้านในกลับปรากฎเป็นลายจีนอย่างลายผู้หญิงและคนรับใช้ในสวน
ปิดท้าย อาร์ตทอย คอลเล็คชัน Norasingha ด้วยสีที่ถอดมาจากเครื่องลายคราม น้ำเงิน ขาว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5 และยังคงเป็นที่นิยมสำหรับนักสะสมในระดับสากล เช่นที่จะได้ชมในงานประมูล ได้แก่ ชามกระเบื้อง ลายครามเขียนทั้งลายด้านนอกและด้านในลายวัตถุมงคลและเถาดอกบัว แจกันคู่ลายครามลายทิวทัศน์ และไฮไลต์ของลายครามในงานประมูลครั้งนี้คือชุดน้ำชากระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาวลาย จปร. ลายอัฐ ที่สุดของลวดลาย หายากที่สุด จากลวดลาย จปร. ทั้ง 10 ลาย ซึ่งสั่งทำพิเศษตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
สายอาร์ตทอย สายวัฒนธรรม และนักสะสมและผู้สนใจประวัติศาสตร์เครื่องเบญจรงค์สามารถมาจับจอง อาร์ตทอย คอลเล็คชัน Norasingha กันได้ในงาน RCB Auctions Talk#3: Norasingha จากทวยเทพบนงานเบญจรงค์ สู่ศิลปะอาร์ตทอย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2567 เวลา 14:00-15:30 น. ที่ RCB Auctions ร่วมรับฟังเรื่องราวเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องเบญจรงค์ไทย พร้อมเข้าชมพรีวิวชิ้นงานประมูลกว่า 200 รายการได้ตั้งแต่วันนี้ที่ห้องประมูล ชั้น 4 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก และเตรียมพร้อมสำหรับงานประมูล “Arts and Antiques Live Auction” ในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 13:00 น. Fact File
|